สีเขียวของต้นไม้สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับพื้นที่ในบ้าน และกิจกรรมการปลูก รดน้ำ ย้ายกระถางก็ยังช่วยปรับอารมณ์ของเราให้มีสมาธิ และลดความเครียดได้ เป็นการบำบัดรักษาสุขภาพใจให้สดชื่นด้วยการลงทุนไม่มากนัก (ถ้าสามารถคุมใจให้ค่อยๆ ซื้อครั้งละ 1-2 ต้น ไปจนถึงไม่ช้อปปิ้งกระถาง และชั้นวางต้นไม้เพิ่มทุกครั้งไปได้) และแน่นอนว่าถูกกว่าไลฟ์โค้ชเป็นไหนๆ
นอกจากพื้นที่ในบ้านจะน่าอยู่ขึ้น มองไปทางไหนก็สบายตาแล้ว ต้นไม้ยังช่วยทำให้เรารู้จักสังเกตการเปลี่ยนแปลง ได้ตั้งตารอคอยการขยับ ปรับเปลี่ยน และแตกใบใหม่
เราจึงขอเปิด Eggwhite’s favourite EP. แรกนี้ ด้วยลิสต้นไม้แต่งบ้าน ที่ถึงจะมีแล้ว แต่เห็นทีไรก็อยากได้อีกทุกทีไป
1. กวักมรกต หรือ เกล็ดมังกร (Zamioculcas Zamiifolia – ZZ Plant)
เริ่มด้วยต้นแรกที่เหมาะสำหรับมือใหม่ หรือสำหรับใครที่คิดว่าเลี้ยงอะไรก็ไม่เคยรอด กวักมรกตเป็นต้นไม้ที่เงียบขรึม เอาใจง่าย มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาตะวันออก กวักมรกตมีชื่อเล่นหลากหลายแต่ที่ได้ยินกันบ่อย คือ ZZ Plant และ Eternity Plant ด้วยความนิ่งเหมือนยืนหลับยาวชั่วนิรันดร์ ไม่เรียกร้องความสนใจ เนื้อใบสีเขียว มีความมันวาวและหนา ทำให้สามารถเก็บน้ำได้ดี ไม่ต้องรดน้ำบ่อย และยังอยู่ในที่แสงน้อยได้สบายมาก

2. พลูด่าง (Pothos & Philodendron)
ไม้เลื้อยใบรูปทรงหัวใจคลาสสิคที่อยู่ในเทรนด์มาตลอดกาลไม่เคยจากเราไปไหน เลี้ยงง่ายมีให้เลือกหลายสีหลายพันธุ์ ทั้งใบสีเขียวล้วนและสลับสี อย่างพลูด่างลายหินอ่อน (Golden Pothos) หรือพลูสนิม ที่มีใบสีเขียวปนน้ำตาลอมส้ม (Philodendron Micans) เสน่ห์ของไม้เลื้อยคือเราสามารถเลี้ยงได้ทั้งในกระถางแบบตั้งพื้นและแบบแขวน และยังสามารถตัดกิ่งติดใบที่มีรากอากาศไปปักน้ำหรือดินเพื่อขยายพันธุ์ต่อได้อีกด้วย

3. สายป่านดวงใจ (Ceropegia Woodii – String of Hearts)
มาไกลจากแอฟริกาใต้ ด้วยทรงหัวใจขนาดเล็กทำให้ใครที่รักการเลี้ยงต้นไม้แบบแขวน สายป่านดวงใจ หรือ String of Hearts มักจะทำตัวน่ารักทำตาปริบๆ รอให้เราสอยกลับบ้านมาเป็นตัวเลือกต้นๆ สายป่านหัวใจที่ห้อยลงมาเวลากระทบแดดสีม่วงระเรื่อนั้นสวยจริงๆ

4. มอนสเตอร่า และ มอนสเตอร่ามังกี้ (Monstera Deliciosa / Monstera Obliqua Monkey Mask)
ถ้าพูดถึงไม้ใบที่ได้รับความนิยมาอย่างยาวนาน เจ้ามอนสเตอร่าก็จัดอยู่ในอันดับต้นๆ มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลาง ด้วยความสวยและอลังการของใบ ไปจนความอดทนรักแสงแดด และอยู่ได้นานแม้จะตัดออกมาปักแจกันผ่านไปแล้วสามอาทิตย์ก็ยังเขียวสดใส ทำให้เราหาข้ออ้างไม่พูดถึงไม่ได้ แต่เราจะขอแนะนำน้องเล็กของสายมอนสเตอร่าสำหรับคนที่มีพี่ใหญ่แล้วอย่าง Monstera Monkey Mask ที่มีชื่อไทยว่าพลูฉลุ แม้ว่าใบจะเล็กและบางกว่า แต่การโตแบบใบต่อใบไปเรื่อยๆ ทำให้มอนสเตอร่ามังกี้เป็นอีกหนึ่งต้นที่เลี้ยงสนุกไม่แพ้ต้นใหญ่เลยทีเดียว


5. ยูคาลิปตัส (Eucalyptus Gunnii / Cinerea / Pulverulenta / Perriniana
ยูคาลิปตัสส่วนใหญ่ที่เราเห็นเวลาจัดช่อดอกไม้นั้น มีต้นสายพันธุ์มาจากออสเตรเลีย และเริ่มได้รับความนิยมปลูกในกระถางมาสักพักใหญ่แล้ว ด้วยความดรีมมี่ของรูปทรงใบ สีเขียวตุ่นอมขาวเงิน มีกลิ่นหอมอ่อน นอกจากลักษณะของการเรียงใบและพฤติกรรมแตกกิ่งจะต่างกันไปในแต่ละพันธุ์แล้ว ยังมีชื่อเล่นหลากหลายให้เราเรียก ที่หลายคนอาจจะคุ้นซะมากกว่าชื่อจริง เช่น Baby Blue (E. Pulverulenta) Spinning Gum (E. Perriniana) และ Silver Dollar (E. Cinerea) ในเมืองไทยอาจจะยังหายากอยู่สักนิด แต่ถ้าได้ลองเลี้ยงแล้วรับรองว่าจะหลงรักไม่ยากเลย

6. ยางอินเดีย (Ficus Elastica)
หนึ่งในดรีมทีมร่วมแก๊งค์มอนสเตอร่า และไทรใบสักที่เราจะพูดถึงในต้นถัดไปคือ ยางอินเดีย หรือ ต้นยางลบ มีต้นกำเนิดมาจากทางภาคตะวันออกของเอเชียใต้ (อินเดีย ศรีลังกา) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แถบหมู่เกาะมลายู) ที่เราพบได้บ่อยตามร้านต้นไม้ คือ ใบสีเข้มล้วน มีตั้งแต่สีเขียวจนออกเข้มไปถึงดำ และสีแดง ไปจนพันธุ์ใบด่างแซมสีเหลือง แซมสีขาว หรือแซมสีแดง ส่วนที่มาของชื่อต้นยางลบนั้น ถูกเรียกเพราะยางอินเดียให้น้ำยางสีขาวที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโปรดักส์ชิ้นเล็กอย่างยางลบจริงๆ ในช่วงต้น 90s นั่นเอง ความยากในการเลี้ยงถือว่าไม่ยากมาก เพราะสภาพภูมิอากาศของต้นกำเนิดและเมืองไทยใกล้เคียงกันอยู่ ถึงมือใหม่ก็ไม่ต้องกลัวไป อุ้มกลับบ้านกันได้เลย

7. ไทรใบสัก (Ficus Lyrata – Fiddle Fig Leaf)
ปิดที่ต้นสุดท้ายในลิสด้วยไทรใบสัก ลูกรักของใครหลายคนเพราะความ photogenic ขึ้นกล้อง และเสน่ห์ของใบที่ใหญ่ อวดเส้นใบชัดเจนอวบอูม ไทรใบสักมีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาตะวันตก เรื่องน่าสนใจก็คือทั้งสองชื่อ Lyrata และ Fiddle มีที่มาจากรูปทรงของใบ ที่คล้ายกับทรงเครื่องดนตรีประเภทสายของกรีกโบราณ ชื่อว่า Lyre แล้วก็ยังคล้ายกับ Fiddle หรือไวโอลิน ด้วยนั่นเอง ไทรใบสักถือว่าเป็นต้นที่เลี้ยงง่าย แต่ก็มีชื่อเสียงเรื่องความเอาใจยากบวกดราม่าพอประมาณ จากความสามารถในการสลัดใบหล่นทิ้งตรงหน้าให้เราช็อกได้ง่ายๆ โดยสาเหตุมีได้ทั้งน้ำน้อยหรือเยอะไป หรือย้ายบ้านใหม่ไปจากสภาพที่คุ้นเคย แต่ถ้าได้ลองเลี้ยงแล้วความสนุกก็คือ เราสามารถดัดแปลงปรับทรงต้นให้กลายเป็นต้นไม้ทรงพุ่ม แบบต้นไม้จริงๆ ได้ด้วย

หลายคนอาจใช้เหตุผลหลักการเลือกต้นไม้จากการฟอกอากาศและดูดสารพิษเป็นตัวตั้ง ด้วยหลายบทความอ้างอิงไปถึงการทดลองของนาซ่าเมื่อปี 1989 แต่เนื่องจากงานทดลองของนาซ่าทำในพื้นที่ปิดจึงมี bias อยู่มาก ทำให้เราเข้าใจผิดตีความกันเกินจริงมานาน โดยหลังจากที่มีการคำนวณถึงปริมาณของการปลูก (Waring and Cummings’s calculations) พบว่า หากเราต้องการให้ต้นไม้ช่วยฟอกอากาศได้สูสีกับเครื่องฟอกอากาศหรือการเปิดหน้าต่างเพียง 1-2 บานให้อากาศถ่ายเท เราคงจะต้องปลูกอย่างแออัดจนไร้ที่เดินกันเลยทีเดียว (*อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ด้านล่าง)
ไม่ว่าเหตุผลของการเลือกปลูกและจัดวางต้นไม้รอบตัวของแต่ละคนคืออะไร เราหวังว่าทุกคนจะมีความสุขกับการใช้เวลากับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ส่งเสียงรบกวน (แม้จะหิวแล้ว) ใช้เวลาในการอยู่บ้านได้อย่างสดชื่น และสนุกไปกับการดูการเติบโตของลูกๆ ในบ้านกันค่ะ
—————————
เรื่อง: ภัทราวรรณ สุขมงคล (Dyeast Studio)
Photos: https://unsplash.com/
REFERENCES:
https://drexel.edu/now/archive/2019/November/potted-plants-do-not-improve-air-quality/
https://archive.org/details/nasa_techdoc_1993007298
https://www.theatlantic.com/science/archive/2019/03/ndoor-plants-clean-air-best-none-them/584509/
https://www.nature.com/articles/s41370-019-0175-9
https://en.wikipedia.org/wiki/Zamioculcas
https://www.stamenandstemblog.com/blog/pothos-vs-philodendron
http://www.missouribotanicalgarden.org/PlantFinder/PlantFinderDetails.aspx?kempercode=b597
https://en.wikipedia.org/wiki/Ceropegia_woodiihttps://www.bioadvanced.com/articles/5-benefits-houseplants