ห้องเปล่าหนึ่งห้อง มันก็คือกล่องสี่เหลี่ยมไซส์ใหญ่ดีๆ นี่เอง แต่พอเอาเก้าอี้ไปวาง กิจกรรมในนั้นก็เกิดได้มากขึ้น คุณค่าของกล่องสี่เหลี่ยมนั้นก็เปลี่ยนไป สิ่งประกอบต่างๆในกล่องนี้ ส่งผลโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตภายใน คุณภาพชีวิต อารมณ์ แม้กระทั่งสุขภาพ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของศาสตร์แห่งการตกแต่งภายใน
เคยเป็นมั้ยที่พอจะเริ่มแต่งห้อง แต่งบ้าน ความคิดและไอเดียจะผสมปนเปกันไปหมด อันนั้นก็ชอบอันนี้ก็ดี ไปเจออะไรก็ชอบหมด แต่พอจับมารวมกันกลับไม่แน่ใจว่าสวยหรือเปล่า อารมณ์เหมือนชอบกินส้มตำแต่ก็ชอบกินซุปครีม พอมาอยู่ในคอร์สเดียวกันสุนทรียะในรสชาติอาจไม่เข้ากัน วันนี้เราเลยจะมากรอบความคิดจัดเรียงลำดับให้เห็นภาพชัดขึ้น ด้วยการเรียนรู้พื้นฐานของการออกแบบ นั่นก็คือเรื่องสี
สีเป็นการเริ่มต้นที่ง่าย ที่ทำให้เราสามารถไล่เรียงความคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งเซตสี โทนอารมณ์ ไปจนถึงคอนเซ็ปต์ (Color Scheme, Mood & Tone, Concept) สีรับรู้ได้ด้วยประสาทส่วนอัตโนมัติของมนุษย์ ถ้าอธิบายลงลึกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อาจจะพาให้งง เอาเป็นว่าลองจินตนาการระหว่างการนั่งทำงาน ในห้องที่ทาสีผนังทั้งสี่ด้านด้วยสีแดง และอีกห้องด้วยสีฟ้าอ่อน ทั้งสองสีส่งผลต่อการทำงานแตกต่างกันอย่างไร ทุกคนคงมีคำตอบในใจแล้ว และน่าจะใกล้เคียงกัน ไม่มากก็น้อย
สียังส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึก และมีอิทธิพลอย่างมากในงานออกแบบทุกแขนง ผู้ที่เรียนศิลปะ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบ จำเป็นต้องเรียนทฤษฎีสี (Color Theory) ซึ่งวันนี้เราจะย่อยเนื้อหามาประกอบใหม่ให้เข้าใจง่าย มีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ แต่อย่างน้อย อยากให้ทราบที่มาของสีเสียก่อน
สมัยเด็กๆ เราเรียนเรื่องของแม่สี ซึ่งมี แดง น้ำเงิน เหลือง สามสีนี้เมื่อผสมกันไปมาจะได้สีในลำดับที่สอง นั่นคือ ส้ม เขียว ม่วง และเมื่อนำสีลำดับที่สองผสมกับแม่สี ก็จะได้สีลำดับที่สาม เกิดเป็นวงล้อสีตามภาพ วงล้อสีสามารถบ่งบอกได้หลายสิ่ง เช่น สีโทนร้อน สีโทนเย็น สีที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน สีใกล้เคียงที่อยู่ติดกัน ข้อมูลพวกนี้เหมือนจะดูน่าเบื่อ แต่เราจำเป็นต้องรู้เบื้องต้น เหมือนเวลาปรุงอาหาร ที่ต้องรู้ว่าน้ำปลาให้ความเค็ม น้ำตาลให้ความหวาน จะผสมให้อยู่กันอย่างไรให้กลมกล่อม มาดูกันดีกว่าว่า เรานำวงล้อสีนี้ไปใช้อธิบายอะไรได้บ้าง
ในแง่ของฟังก์ชั่นการใช้งานของสี เคยสังเกตมั้ยว่าพวกร้านฟาสต์ฟู้ด จะมีโลโก้ การตกแต่งภายในเป็นสีโทนร้อน เนื่องจากพื้นที่สีโทนร้อนที่ไม่สบายตานัก แต่ดูแอคทีฟ คล่องตัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อลูกค้าที่เข้ามาใช้งาน และพนักงานภายในร้าน
ส่วนในแง่ของความสวยงาม ลองสังเกตสีที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เช่น สีเขียวอยู่ตรงข้ามกับสีแดง แสดงว่าสองสีนี้มีความตรงข้ามกันแบบสุดขั้ว สมมุติว่าจำเป็นต้องใช้สองสีนี้ในการตกแต่ง ถ้าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป็นสีแดง และอีกห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นสีเขียว ห้องนั้นจะค่อนข้างอยู่ยาก และไม่สบายตานัก เพราะสีที่ตรงข้ามกันมากๆ ถ้าอยู่ด้วยกัน เราจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักการใช้งานให้ต่างกัน ยกตัวอย่าง ระหว่างผู้หญิงคนแรกใส่เสื้อสีแดงและกระโปรงสีเขียว และอีกคนเลือกใส่เดรสสีแดง คาดเข็มขัดสีเขียว เราจะเห็นเลยว่าพอน้ำหนักของสีต่างกันมาก คู่สีตรงกันข้ามนี้จะสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสวยงาม
นอกจากการเลือกใช้สีแล้ว หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องเทรนด์สีแต่ละปี คำถามคือ แล้วใครกันเป็นคนกำหนดเทรนด์สี แล้วมันส่งผลอย่างไรกับการตกแต่ง เราจำเป็นต้องตามเทรนด์สีมั้ย จากเบื้องต้นที่เราเน้นว่าสีส่งผลโดยตรงต่อประสาทการรับรู้ เทรนด์สีก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลทางอ้อมผ่านสื่อโฆษณา (Commercial) เมื่อแต่ละปีมีเทรนด์สี นักออกแบบสาขาต่างๆ สื่อโฆษณา ห้างร้าน จึงเลือกใช้ในการออกแบบปีนั้นๆ พอเราก้าวขาออกจากบ้าน เราจะได้รับรู้ ซึมซับสีเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว บางคนอาจจะได้แรงบันดาลใจจากหนังสือแต่งบ้าน บ้างก็ได้จากการตกแต่งหน้าร้านที่เดินผ่าน (Window Display) เกิดเป็นความชอบไปโดยปริยาย
Color Trend หรือเทรนด์สี ถูกกำหนดขึ้นโดยบริษัท Pantone มาตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งเรียกว่าเป็นการออกมากำหนดที่ส่งผลต่อโลกทุนนิยม และวงการงานออกแบบเป็นอย่างมาก และยังส่งผลทางอ้อมต่อการรับรู้ ดังเช่นในยุค 90s ผู้คนจะชอบสีสดใส แต่พอวันนี้หากเอาชุดเมื่อหลายปีที่แล้วมาใส่ จะดูแหวกยุคออกมาประมาณนั้น การอัพเดตเทรนด์สีแต่ละปีจึงมีความสำคัญ
การคัดสรรสีขึ้นมาแต่ละปีของบริษัท Pantone มีการอ้างอิงจากการสรุปเหตุการณ์สำคัญของโลก เพื่อที่ปีใหม่จะเริ่มขึ้นพร้อมกับสีและแรงบันดาลใจใหม่ ในปี 2020 นี้ก็เช่นเคย
“เราอยู่ในยุคที่ต้องการความเชื่อมั่น มั่นคง” – Leatrice Eiseman, Executive Director ของ The Pantone Color Institute ได้พูดถึงเทรนด์สีปี 2020 Classic Blue ที่ Pantone กำหนดมาว่า จะเป็นสีที่อยู่ได้ทุกยุคทุกสมัย แสดงถึงความมั่นคง ความมั่นใจ ความสงบ และความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ยุคใหม่
สี Classic Blue เป็นสีโทนเย็นเข้ม เลือกใช้และเข้ากับทุกสีได้เป็นอย่างดี โดยพื้นฐานการวางสัดส่วนของสีในการตกแต่งภายในอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ คล้ายการโยนหินถามทาง ด้วยการหาแรงบันดาลใจจากนิตยสาร หรือ ปักบอร์ดรวบรวมภาพห้องที่ชอบบน Pinterest แล้วพอเอามาไล่เรียงดูโดยรวม เราจะเห็นจุดเชื่อมโยงของทุกภาพ เข้าใจสไตล์ และความชอบของตัวเอง เช่น หากหลายภาพเราชอบห้องไปในโทนสีสว่าง ครีม เทาอ่อน และเฟอร์นิเจอร์ไม้ดีเทลเรียบๆ เราก็สามารถที่จะดึงสีครีมออกมาเป็นสีหลัก ที่มีเปอร์เซ็นต์การใช้งานมากที่สุด และสามารถเพิ่มสี Classic Blue เข้าไปเพิ่มคาแรกเตอร์ให้ดูน่าสนใจในส่วนประกอบภายในของห้องให้เป็นเปอร์เซ็นต์รองลงมา เช่น เลือกเก้าอี้ไม้เบาะหุ้มผ้าสีน้ำเงิน เป็นต้น
ในวันนี้เรามีตัวอย่าง Color Scheme ที่นำเทรนด์สีปีนี้มาใช้ในหลายๆ รูปแบบ เพื่อเป็นไอเดียให้คุณผู้อ่านได้ลองไปปรับใช้ ตัวอย่างแรกกับการใช้สีน้ำเงินเข้มประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เลือกใช้คู่กับสีเหลืองมัสตาร์ด โทนสีออกแนวนอร์ดิก สแกนดิเนเวียน จับคู่กับเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีรายละเอียดเนี๊ยบลบมุม เพิ่มของตกแต่งเป็นต้นไม้ทรงสวย และ ภาพแนว minimal ใส่กรอบไม้
ส่วนคนไหนที่ชอบความดิบ สี Classic Blue นี้เมื่อจับคู่กับสีดำ สีน้ำตาล และเลือกของตกแต่งที่โชว์เนื้อวัสดุจริง เช่น ไม้ และเหล็กแล้ว จะทำให้ได้ความรู้สึกเรียบง่าย เท่ แต่ก็ทำให้สเปซทึบได้ ด้วยความที่มีแต่สีเข้มอยู่ด้วยกัน ควรเพิ่มสัดส่วนเล็กๆ ด้วยสีสว่างหรือวัสดุที่มีความเงาสะท้อน
สายหวานเราสามารถเลือกสี Classic Blue จับคู่กับสีชมพูได้ และเลือกใช้สีขาวครีม เป็นเปอร์เซ็นต์หลักและเติมด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอลเข้าไป ก็จะได้อารมณ์ห้องที่สบายตา ไม่น่าเบื่อ
หลายๆ คนอาจคิดว่า แล้วถ้าเลือกสีเทรนด์ปีนี้มาใช้ ปีหน้าเราก็อาจตกเทรนด์ได้ สำหรับคนที่กลัวจะเบื่อง่ายเมื่อใช้สีชัดๆ มาแต่งห้อง แนะนำว่าให้เลือกส่วนประกอบอื่นในห้อง ให้เข้ากันง่ายกับทุกๆ สี ทุกๆ สไตล์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวย ที่เน้นการใช้งาน คุณภาพดี เพราะอย่าลืมว่า สีห้องและของตกแต่งนั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยสไตล์การจัดวาง และการปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งห้องนานๆ ครั้ง ก็ช่วยทำให้เรารู้สึกสดชื่น เหมือนการได้เริ่มต้นใหม่
จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว สีและเทรนด์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด บางทีผู้อาศัยก็มีความชอบเปลี่ยนไป สิ่งที่ควรใส่ใจไม่น้อยไปกว่าสไตล์สี เพราะจะอยู่กับเราไปอีกนานก็คือ โครงสร้าง วัสดุพื้น วัสดุผนัง และเฟอร์นิเจอร์ ควรเลือกที่ตรงกับการใช้งาน แข็งแรง คุณภาพดี การแต่งห้องไม่มีหลักตายตัว ไม่มีอะไรถูกหรือผิด เช่นเดียวกับงานศิลปะ เพราะการตกแต่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของศิลปะ ขึ้นอยู่ที่ความพอใจของผู้อาศัย และนำมาประกอบกับการใช้งาน หากจัดวางและตกแต่งใช้งานได้ตามต้องการ และสวยงามตามผู้อยู่อาศัยชอบ ก็ถือเป็นการออกแบบที่ประสบความสำเร็จแล้ว
เรื่องและภาพ: นุชนาถ กลิ่นจันทร์ (Farmhouse Styling)
เรียบเรียง: ภัทราวรรณ สุขมงคล (Dyeast Studio)
Ref: https://www.pantone.com/color-intelligence/color-of-the-year/color-of-the-year-2020