หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) ที่ใช้เรียกกลุ่มอาการปวดเมื่อยและบาดเจ็บบริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่มักจะเกิดกับคนทำงานออฟฟิศ ด้วยสาเหตุจากการนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมและอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ กลุ่มอาการที่ว่ามีตั้งแต่ อาการปวดคอ ปวดไหล่ ปวดตึงช่วงเอวถึงขา ลามไปถึงระบบย่อยอาหาร ไปจนโรคเกี่ยวกับดวงตา และความเครียด
และเมื่องานตามเรามาถึงบ้านในช่วงนี้ อาการต่างๆที่กล่าวมา ก็สามารถตามเรามาจากออฟฟิศได้ด้วยเช่นกัน อาทิตย์นี้เราจึงมีเคล็ดไม่ลับพิชิตโฮมออฟฟิศซินโดรม (Home Office Syndrome) มาฝาก เพื่อให้ทั้งกายและใจแข็งแรงไปพร้อมๆกัน
1. เตรียมพื้นที่ให้น่านั่งทำงาน (Create an Ergonomically WFH environment)
การทำงานจากที่บ้านย่อมมีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้นั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเราอาจจะทรมานกับโรคยอดฮิตของวัยทำงานได้ หากมีความจำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านมากขึ้น การลงทุนกับโต๊ะและเก้าอี้ทำงานให้เหมาะสม นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ถ้าเราได้เลือกดีไซน์โต๊ะและเก้าอี้ทรงสวยที่ชอบมานาน เชื่อเถอะว่าการนั่งทำงานที่บ้านจะดีต่อใจได้ไม่น้อย และเมื่อนั่งทำงานไปสักระยะก็ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ลุกขึ้นขยับแขนขากระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต อาการเหน็บชาจะได้ไม่ถามหา
*สามารถอ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับหลักการเลือกเฟอร์นิเจอร์และจัดพื้นที่สำหรับ work from home ได้ที่นี้ (https://www.eggwhitedesign.com/workfromhome1/)
2. เบรกพักสายตาเพื่อเติมพลัง (Take a break to fill up your energy)
บางครั้งเมื่อทำงานจากที่บ้านในบรรยากาศที่เงียบสงบ อาจทำให้เราทำงานเพลินจนลืมเวลา และใช้สายตาอยู่กับจอคอมพิวเตอร์นานจนเกินไป ลองพักสายตาจากหน้าจอแล้วทำตามสูตร 20-20-20 ซึ่งแนะนำโดยสมาคมจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา “ละสายตาจากจอนับ 1 ถึง 20 มองให้ไกลสัก 20 ฟุต และทำบ่อยๆ ทุก 20 นาที” จะช่วยถนอมสายตาของเราได้ค่ะ
นอกจากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้ว อาการทางใจก็สำคัญ เมื่อเราต้องทำงานอยู่ที่บ้านนานๆ อาจเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว และถ้าทำงานเพลินจนลืมทานอาหารไม่ตรงเวลาก็เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะได้อีก เราจึงควรให้เวลาสำหรับช่วงพักอย่างจริงจัง ใช้เวลาทานอาหารแบบไม่เร่งรีบ เติมพลังความสดชื่นด้วยผลโม้จานโปรด พักดริปกาแฟสักแก้วก่อนกลับเข้าสู่โหมดการทำงาน และที่สำคัญอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างวัน
3. ให้เวลาสำหรับการออกกำลังกาย (Make time for exercise at home)
หนึ่งในข้อดีของการ work from home คือ เราได้เวลาเดินทางบนท้องถนนที่ใช้เพื่อออกไปทำงานในแต่ละวันกลับมา เมื่อก่อนที่เคยละเลยการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ ลองใช้โอกาสนี้ตั้งเป้าหมายดูแลตัวเองให้แข็งแรง
ยุคนี้การวางแผนการออกกำลังกาย สามารถทำได้ง่ายดายจากที่บ้านผ่านแอพพลิเคชั่น และสามารถเข้าคอร์สออกกำลังออนไลน์ได้ เช่น การวิ่งบนลู่แบบ Virtual Run กับเพื่อนๆ ผ่านแอพ เตรียมเสื่อโยคะสักผืนไว้เข้าคลาสออกกำลังเพิ่มความยืดหยุ่น พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยบอดี้เวทจากอุปกรณ์ DIY ง่ายๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะใช้ขวดน้ำแทนดัมเบล จะยกทั้งแกลลอนน้ำตอนสควอท หรือจะใช้หนังสือสักตั้งใส่ไว้ในเป้สะพายหลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักก็ได้เหมือนกัน เหลือสิ่งสำคัญสุดท้ายก็คือวินัยและความสม่ำเสมอ ลองพยายามออกกำลังกายให้ได้ติดกันซัก 14 วัน ความคุ้นชินจะทำให้เราไปต่อได้ไม่ยาก
เป้าหมายการออกกำลังของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะออกเพื่อความฟิตแอนด์เฟิร์ม แต่สำหรับบางคนการออกกำลังก็เพื่อจะได้ทานของที่ชอบได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความอ้วนมากเกินไปนัก แต่ไม่ว่าจะออกกำลังเพื่ออะไร แค่เริ่มตั้งใจดูแลตัวเองก็เป็นจุดเริ่มของสุขภาพที่ดีแล้วค่ะ
4. ลดความเครียดด้วยงานอดิเรกใหม่ (Try new hobby to relieve stress)
หลายคนอาจมีกิจกรรมยามว่างที่คิดจะทำแต่ไม่มีโอกาสได้ทำสักที เมื่อเรามีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ลองหากิจกรรมสนุกผ่อนคลาย หรือหางานอดิเรกใหม่ที่เรารู้สึกสนุก เช่น ฝึกวาดรูปสีน้ำ ลองประดิษฐ์งานฝีมือ ต่อโมเดล หรือจะเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้น หรือจะชวนสมาชิกในบ้านมาทำอะไรร่วมกันก็เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ไม่น้อย เช่น ลองใช้เวลาสัก 30 นาทีลงแรงกับพื้นที่สีเขียวในบ้าน มีงานวิจัยพบว่า การทำสวนปลูกต้นไม้จะช่วยลดฮอร์โมนคอติซอลในสมองที่มีส่วนช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้
หลายคนอาจพบว่างานอดิเรกแกมจำเป็นในช่วงนี้ คือการเข้าครัว เพราะต้องทำอาหารทานเอง ลองสวมบทบาทป้าร้านอาหารตามสั่งทำอาหารตามใจคนในบ้าน และฉายแววฟู้ดสไตลิสต์ด้วยการแต่งจานให้สวย และสร้างบรรยากาศให้เหมือนออกไปทานอาหารนอกบ้านดู เราอาจค้นพบความสามารถใหม่ที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้
สุดท้ายแล้วคำแนะนำสำหรับ การทำงานอยู่บ้านอย่างไรไม่ให้ป่วยร่างและใจเป็น Home Office Syndrome ที่ดูจะสมเหตุผลที่สุดก็คือ “การปรับสมดุลของชีวิตให้เหมาะกับจังหวะของเรา” ให้เวลาทั้งกับงาน ตัวเอง และครอบครัว บางครั้งเราอาจจะแค่ต้องการจังหวะเริ่มและหมดวันที่ดีอย่างเรียบง่าย ด้วยการใช้เวลาตอนอาบน้ำสำรวจร่างกาย ความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ และได้ทบทวนสำรวจใจเพื่อเริ่มทุกกิจกรรมของวันอย่างมีสติ และพร้อมรับกับวันใหม่ในพรุ่งนี้
– EGGWHITE Ideas –
———————————————————–
สำหรับท่านที่สนใจเฟอร์นิเจอร์สำหรับ Work from home สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.eggwhitedesign.com/product-category/collection/work-from-home/
เรื่อง: จิตติกานต์ เสียมหาญ
เรียบเรียง: ภัทราวรรณ สุขมงคล (Dyeast Studio)
Reference:
– https://rtpr.com/tips/10-ways-prevent-office-syndrome
– https://www.huffpost.com/entry/what-happens-body-work-from-home
– https://www.cnet.com/how-to/exercise-using-household-objects-for-a-full-body-workout-during-quarantine
– https://www.voathai.com/a/gardening-ro/4339935.html
– https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/health-fitness/fitness/5-creative-ways-to-get-moving-when-you-are-stuck-at-home-during-the-lockdown/photostory/74813874.cms